ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องใกล้ตัว อย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ราคาวัสดุในการผลิตอาหาร ข้าว เครื่องปรุงรส ตลอดจนค่าขนส่ง ค่าโสหุ้ยต่างๆ โดยระบบหลักโดยรวมจะมีผลกระทบแบบมหาศาลด้วยการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในระบบเล็กๆ เช่น หากฟาร์มไก่ไข่ขอขึ้นราคาไข่ไก่จากฟองละ 2 บาทเป็น 3-4 บาท จะมีผลกระทบกับเรื่องใดบ้าง
อย่างแรกคือ ราคาไข่เจียว ไข่ดาวของร้านอาหารตามสั่งจะถูกตั้งราคาบวกเพิ่มอย่างน้อย 5 บาท บางร้าน 7 บาท ถึงแม้ว่าราคาไข่ไก่จะปรับตัวฟองละเพียง 1-2 บาทก็ตาม แต่ร้านอาหารต่างๆ จะแห่ขึ้นราคาเป็นมาตรฐานคือ +5 บาททุกอย่าง
อย่างที่สอง เมื่อร้านอาหารขึ้นราคา กระบวนการผลิตต่างๆ ที่ใช้วัสดุที่เป็นไข่ไก่ จะพลอยฟ้าฝนไปด้วยแม้ว่าจะไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากนักก็ตามเช่น ขนมที่มีส่วนผสมของไข่ไก่ทั้งหลาย
อย่างที่สาม บรรดาห้างร้านและผู้ประกอบการที่มีรายได้จากกระบวนการที่หนึ่งและสอง ต่างก็อ้างว่ามีผลกำไรเท่าเดิมในขณะที่ราคาไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้น โดยรายได้หลักไม่ได้มาจากการขายไข่ไก่เลย แต่มาจากการให้เช่าพื้นที่เปิดร้านอาหาร แต่เห็นว่าร้านอาหารทำรายได้มากแต่จ่ายค่าเช่าน้อย เลยพากันขยับปรับตัวกันอีก

ผู้ได้ประโยชน์เป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ลำดับ 2 จนกระทั่งจบก่อนจะถึงผู้บริโภค
ผู้เสียประโยชน์คือผู้ผลิตและผู้บริโภค เป็นผู้ที่อยู่ลำดับแรกสุดและท้ายสุดของห่วงโซ่อาหารในยุคปัจจุบัน
นี่อาจเป็นความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทย ในเรื่องของลำดับค่าใช้จ่ายในการครองชีพของคนในประเทศ
ในขณะที่เงินเดือนและค่าแรงในประเทศไทยเอง แม้ว่าจะมีประกาศออกมาแล้วว่าเพิ่มอัตรารายได้ในค่าแรงขั้นต่ำ แต่ในบางสถานประกอบการ ก็ยังคงจ่ายค่าจ้างในจำนวนเท่าเดิม ไม่ได้แยแสต่อกระแสสังคมและแนวทางที่รัฐกำหนดเลย แบบนี้ควรจะมีการปฏิรูปประเทศไทยในเรื่องนี้หรือไม่?? แล้วแนวคิดนี้ ท่านคิดว่าควรจะปฏิรูปในด้านไหน คุณภาพชีวิต รายได้ประชากร หรือต้องไปปรับแก้ในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ หรืออื่นๆ
จริงๆ แล้วเรื่องใกล้ตัวของเราก็มีหลายเรื่องที่รอการปฏิรูป เพียงแต่เราชินชาและคุุ้นเคยจนดูเหมือนว่ามันไม่ใช่ปัญหาและเป็นอุปสรรคใดๆ เท่านั้น เพราะในความเป็นจริง ความอดทนของประชาชนมันมีสูงกว่าค่าแรงและราคาไข่ไก่อีกตั้งเยอะ ใช่หรือไม่